บูรพาจารย์ผู้สืบสายการปฏิบัติตามแนวทางนี้
อ้างอิง: หนังสืออาจาริยบูชา
โดย สุทธี ชโยดม และคณะ
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางนี้ เป็นวิธีการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งหลังจากที่ทรงบรรลุพระโพธิญาณแล้ว ได้ทรงอุทิศเวลาตลอด 45 พรรษาของพระชนม์ชีพในการสั่งสอนเวไนยสัตว์ด้วยพระเมตตากรุณาธิคุณ รวมทั้งทรงให้พระภิกษุออกเผยแผ่พระธรรมคำสอน ตามพระพุทธดำรัสที่ว่า
“จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตายะ
พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย”
“ภิกษุทั้งหลาย ขอเธอจงเที่ยวจาริกไป
เพื่อประโยชน์และความสุขของชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก”
(วิ. มหา. 4/32/40)
การสืบทอดพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากพระภิกษุถึงฆราวาส จากครูถึงศิษย์ จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้สายธารแห่งธรรมะไหลรินสืบสายกันมาในรูปแบบบริสุทธิ์ พวกเราต่างรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อท่านผู้ประเสริฐทั้งหลายที่ได้ธำรงรักษาธรรมะที่บริสุทธิ์นี้ไว้ และขอน้อมคารวะด้วยความเคารพ กตัญญูรู้คุณอย่างสูงสุดต่อท่านเหล่านั้น
เป็นที่น่าเสียดายว่า ภายหลังพุทธกาลเพียง 500 ปี ธรรมะอันบริสุทธิ์กลับสูญหายไปจากประเทศอินเดีย และก็คงจะสูญหายไปจากทุกประเทศอย่างสิ้นเชิง หากไม่ได้มีการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะระหว่างปีพ.ศ. 240 – 312 ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งทรงได้แรงบันดาลใจจากพระภิกษุอาจารย์ คือ พระอรหันต์โมคคัลลีปุตตะติสสะ ในการส่งคณะพระธรรมทูตจากประเทศอินเดียมายังประเทศต่าง ๆ รวม 9 สาย โดยสายที่ 8 ซึ่งพระอรหันต์โสณะและพระอรหันต์อุตตระ เป็นหัวหน้าคณะได้เดินทางมายังดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งในสมัยนั้นมีอาณาเขตครอบคลุมประเทศเมียนมาร์ ไทย ลาว กัมพูชา บางส่วนของเกาะสุมาตรา หรืออินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
พระโสณะเถระและพระอุตตระเถระ ได้เริ่มประกาศธรรมบทแรก โดยเลือกแสดงพรหมชาลสูตร ให้ผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมินี้ฟังเป็นครั้งแรก พระสูตรบทนี้มิใช่ธรรมเทศนาทั่วไป แต่กล่าวถึงทิฏฐิ 62 ประการที่แพร่กระจายในอินเดีย นั่นแสดงว่าคนในดินแดนสุวรรณภูมินี้ ได้รับอิทธิพลความเชื่อและปรัชญาจากชาวอินเดียเกี่ยวกับภาวะคงที่เป็นนิรันดร์และที่ดับสูญ
พรหมชาลสูตรนี้เป็นพระสูตรที่สำคัญยิ่งในการปฏิบัติวิปัสสนา ที่ให้ความกระจ่างทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ พระเถระทั้งสองได้หยิบยกขึ้นมาเทศนาเพื่อช่วยให้คนพื้นเมืองได้ดำรงอยู่ในธรรมะที่แท้จริง ได้กล่าวถึง การเกิดขึ้นและมีประสบการณ์อยู่ภายในขอบเขตของกายและจิต การปฏิบัติวิปัสสนาที่ทำให้ก้าวพ้นจากกายและจิต ไปสู่ขั้นที่ปราศจากเวทนาและตัณหา พระเถระทั้งสองรูปจึงเป็นผู้ที่เปลี่ยนความเชื่อและนำพระสัทธรรมของพระบรมศาสดา ทั้งในส่วนของปริยัติและปฏิบัติมาประดิษฐานยังดินแดนนี้ พวกเราต่างน้อมกราบด้วยสำนึกในพระคุณของพระเถระทั้งสองรูปเป็นอย่างยิ่ง
การปฏิบัติวิปัสสนาได้รับการสืบต่อกันมาเป็นเวลาอีกหลายร้อยปีที่ดินแดนของประเทศเมียนมาร์ตอนใต้ จากครูถึงศิษย์ในสายการปฏิบัติ แม้ว่าพระสงฆ์ส่วนใหญ่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านปริยัติในพระไตรปิฎก แต่ก็มีพระสงฆฺ์จำนวนน้อยที่สนใจการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างจริงจัง และพระสงฆ์เหล่านี้เองที่ได้รักษาวิธีการปฏิบัติในรูปแบบบริสุทธิ์อย่างดั้งเดิม ทำให้วิปัสสนากรรมฐานยั่งยืนมาจนปัจจุบัน
เนื่องจากไม่มีการบันทึกชื่อของครูบาอาจารย์ท่านเหล่านี้ไว้อย่างครบถ้วน เราจึงทราบชื่อและประวัติของบูรพาจารย์ตามแนวทางนี้ เฉพาะที่มีการบันทึกไว้ ดังนี้
-
พระอาจารย์แลดี ซายาดอว์ (ค.ศ.1846–1923 หรือ พ.ศ. 2389-2466)
-
ท่านชายาเท็ตจี (ค.ศ. 1873–1945 หรือ พ.ศ. 2416-2488)
-
ท่านซายาจีอูบาขิ่น (ค.ศ. 1899–1971 หรือ พ.ศ. 2442-2514)
-
ท่านอาจารย์เอ็ส เอ็น โกเอ็นก้า (ค.ศ. 1924-2013 หรือ พ.ศ. 2467-2556)
ผู้สนใจกรุณาคลิกเพื่ออ่านประวัติโดยย่อของบูรพาจารย์แต่ละท่าน หรือจะศึกษารายละเอียดจากหนังสืออาจาริยบูชาได้