ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า (ค.ศ.1924-2013)
อ้างอิง : อาจาริยบูชา หน้า 62-72
ท่านสัตยา นารายัน โกเอ็นก้า (Satya Narayan Goenka) เป็นวิปัสสนาจารย์ฆราวาสผู้เผยแผ่การปฏิบัติวิปัสสนาให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ศิษย์ชาวไทยมักเรียกท่านอย่างคุ้นเคยด้วยชื่อสกุลว่า “ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า”
ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเป็นชาวอินเดีย ที่ถือกำเนิดในประเทศเมียนมาร์ในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2467 ท่านได้ประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงมากตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม และได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนชาวอินเดียในเมียนมาร์ รวมทั้งเป็นประธานองค์กรต่างๆ อาทิเช่น หอการค้ามาร์วารีแห่งเมียนมาร์และสมาคมพานิชย์และอุตสาหกรรมแห่งย่างกุ้ง นอกจากนี้ยังร่วมเดินทางไปต่างประเทศกับคณะผู้แทนการค้าของสหภาพเมียนมาร์ในฐานะที่ปรึกษาหลายครั้ง แต่ความสำเร็จทางโลกเหล่านี้ ท่านอาจารย์กล่าวว่า ทำให้ท่านเกิดอัตตา เกิดปมเด่น ถือตนเองเป็นใหญ่อย่างบ้าคลั่ง ทำให้โรคปวดศีรษะอย่างรุนแรงที่เรียกว่า “ไมเกรน” เข้าจู่โจม แม้ท่านจะได้เดินทางไปพบแพทย์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ใช้เวลาและเงินจำนวนมากแต่ก็ไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งท่านอาจารย์โกเอ็นก้ากล่าวว่า รู้สึกว่าโชคดีที่แพทย์รักษาไม่ได้ ท่านกลับมาถึงบ้านด้วยสภาพที่ทรุดลงกว่าเดิม โชคดีที่ถ้าหมอทำให้ท่านหายขาดจากความปวดได้ บางทีท่านก็อาจไม่ได้พบกับธรรมรัตนะอันวิเศษนี้ เพราะในที่สุดเพื่อนสนิทคนหนึ่งของท่าน ซึ่งภายหลังได้รับตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาของประเทศเมียนมาร์ ได้แนะนำให้ท่านลองไปปฏิบัติธรรมตามหลักสูตร 10 วันของท่านอาจารย์อูบาขิ่น
ในวันที่ 1-11 กันยายน พ.ศ. 2498 ตอนนั้นท่านอายุ 31 ปีที่ได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหลักสูตร 10 วันเป็นครั้งแรกกับท่านอาจารย์อูบาขิ่น ซึ่งเป็นวิปัสสนาจารย์ที่ชาวเมียนมาร์ให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่งผู้หนึ่ง หลังจบจากการปฏิบัติตามหลักสูตร 10 วันแล้ว ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในสาระของคำสอนและในแนวทางปฏิบัตินี้เป็นอย่างมาก จึงเข้าปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนต่อมาท่านอาจารย์อูบาขิ่นได้แต่งตั้งให้ ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอน
ท่านอาจารย์อูบาขิ่นมีความเชื่อที่ฝังใจอยู่แต่เดิมว่า ประเทศอินเดียมีบุญคุณอย่างล้นเหลือที่ได้มอบธรรมะอันบริสุทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก่ประเทศเมียนมาร์ แต่ธรรมะอันล้ำค่านี้กลับได้สูญหายไปจากประเทศอินเดีย ท่านอาจารย์อูบาขิ่นจึงมีความปรารถนาที่จะทดแทนคุณประเทศอินเดีย ด้วยการหาทางนำเอาธรรมะอันล้ำค่านี้กลับไปเผยแผ่อีกครั้ง ท่านอาจารย์อูบาขิ่นได้ส่งเสริมและสนับสนุน ให้ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเปิดการอบรมวิปัสสนาในแนวทางนี้ขึ้นในประเทศอินเดีย
ปีพ.ศ. 2512 เมื่ออายุ 45 ปี ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้กลับไปยังประเทศอินเดีย เพื่อจัดอบรมหลักสูตรวิปัสสนาเป็นครั้งแรกให้แก่ บิดา มารดาและญาติมิตร นับจากนั้นขบวนการเอหิปัสสิโกได้เริ่มต้น จากปากต่อปากที่บอกต่อ ๆ กันไป มีผู้มาขอให้ท่านจัดหลักสูตรวิปัสสนาอย่างต่อเนื่อง
ในปีพ.ศ. 2517 ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้ก่อตั้งสถาบันวิปัสสนานานาชาติ ” ศูนย์ธรรมคีรี” ที่เมืองอิกัตบุรี ใกล้เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย จากนั้นมาได้มีการจัดอบรมวิปัสสนาหลักสูตร 10 วัน หลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรระยะยาวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ปัจจุบันมีศูนย์วิปัสสนาในแนวทางนี้มากกว่า 200 ศูนย์ในแทบทุกทวีปทั่วโลก เป็นการสอนวิปัสสนาอย่างเป็นรูปธรรม ก้าวข้ามพรมแดนของเชื้อชาติศาสนาและแพร่หลายไปทั่วโลก
การเดินทางไปเผยแผ่ธรรมะในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) ซึ่งครบ 10 ปีที่ท่านอาจารย์ดำเนินการอบรมที่ประเทศอินเดีย ท่านอาจารย์และมาตาจีได้เดินทางไปดำเนินการอบรมที่ประเทศทางตะวันตก คือ ประเทศฝรั่งเศส แคนาดา และ อังกฤษ ตามที่ศิษย์ชาวฝร่ั่งเศสเชื้อเชิญให้ท่านไปดำเนินอบรมที่นั่น และท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้กล่าวตอบว่า “In 10 years, I will go to the West” เพราะก่อนหน้านั้น ท่านใช้หนังสือพาสปอร์ตของประเทศเมียนมาร์ ซึ่งอนุญาตให้เดินทางไปประเทศอินเดียเพียงประเทศเดียว
การแต่งตั้งอาจารย์ผู้ช่วย
พ.ศ. 2525 (ค.ศ.1982) ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้แต่งตั้งอาจารย์ผู้ช่วยให้ช่วยดำเนินการอบรมแทนท่าน โดยใช้เทปและวิดีโอของท่านเป็นแนวทางในการสอน เพื่อรองรับกับความต้องการที่จะเข้าอบรมซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ในปัจจุบันมีอาจารย์ผู้ช่วยหลายพันคน และอาสาสมัครช่วยงานต่าง ๆ อีกหลายพันคน มีการจัดหลักสูตรอบรมวิปัสสนาในศูนย์วิปัสสนาในแนวทางนี้ แต่ละปีกว่าพันหลักสูตรทั่วโลก โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าอบรม ค่าที่พัก หรือค่าอาหารใด ๆ ทั้งท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเองและอาจารย์ผู้ช่วยทุกคน จะไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ ในการอบรม
ปีพ.ศ. 2528 ท่านอาจารย์ก่อตั้งสถาบันวิจัยวิปัสสนา (VRI) ขึ้นในประเทศอินเดีย เพื่อเป็นองค์กรวิจัยด้านปริยัติ และการจัดทำพระไตรปิฎก รวมทั้งอรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา ที่ถูกต้องสมบูรณ์
การเดินทางไปต่างประเทศในปี พ.ศ. 2532 และโชคดีของชาวไทย
ปีพ.ศ. 2532 (ค.ศ.1989) ท่านอาจารย์และมาตาจี เดินทางไปอบรมที่ศูนย์ Dhamma Mahi ประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้น ท่านได้เดินทางไปจัดอบรมที่ศูนย์ Dhamma Dara และ California Vipassana Center ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการเดินทางกลับ ท่านอาจารย์ได้แวะเพื่อเปิดศูนย์ Dhamma Bhanu ที่ประเทศญี่ปุ่น
โดยที่ประเทศไทยเป็นทางผ่าน ศิษย์ชาวไทยจึงเชิญท่านอาจารย์โกเอ็นก้าให้มาแสดงปาฐกถาธรรม ในหัวข้อ “วิปัสสนากรรมฐาน :ศิลปะในการดำเนินชีวิต” โดยจัดร่วมกับยุวพุทธิกสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2532 ซึ่งมีผู้สนใจมาเข้าฟังอย่างล้นหลาม หลังการแสดงปาฐกถา ท่านอาจารย์ได้ตอบคำถามจากผู้ฟัง ซึ่งมีผู้เรียนเชิญให้ท่านมาจัดอบรมวิปัสสนาด้วยตัวท่านเองที่ประเทศไทย และท่านอาจารย์ได้ตอบรับคำเชิญนั้น
การเดินทางมาจัดการอบรมหลักสูตรที่ประเทศไทย
ปีต่อมา ระหว่างวันที่ 21-30 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2533 ท่านอาจารย์และมาตาจีได้เดินทางมาจัดอบรมหลักสูตร 10 วันครั้งแรกที่ธรรมสถานว่องวานิช ประเทศไทย
นอกจากการอบรมหลักสูตร 10 วันครั้งแรกนี้ ท่านอาจารย์และมาตาจียังได้เดินทางมาอบรมในหลักสูตร 10 วันที่ศูนย์ธรรมกมลาอีก 2 ครั้ง คือ ในปีพ.ศ. 2536 และ 2538 รวมทั้งมาทำพิธีเปิดเจดีย์ และให้วิปัสสนาในหลักสูตร 30 วันครั้งแรก ที่ศูนย์ธรรมกมลา ในปีพ.ศ. 2541 และในวโรกาสที่เหมาะสม ท่านอาจารย์และมาตาจี จะเข้าพบเพื่อกราบนมัสการสมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จพระญาณสังวร) และพระเถราจารย์อีกหลายรูป
การเดินทางมาประเทศไทยในปีพ.ศ. 2544
วันที่ 25 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าและมาตาจี เดินทางมาประเทศไทย ตามคำเชิญของกองทุนธรรมนำสุขในพระสังฆราชูปถัมภ์ (สมเด็จพระญาณสังวร) โดยจุดประสงค์สำคัญ คือ การแสดงปาฐกถาธรรมเฉลิมพระเกียรติเรื่อง “พระไตรปิฎกกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน” โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จมาเป็นองค์ประธาน หลังจากนั้นท่านอาจารย์ได้แสดงปาฐกถาธรรมโรงแรมปาร์คนายเลิศ และเดินทางไปเยี่ยมศูนย์ธรรมอาภา จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งการตอบคำถามศิษย์ที่มาพบ
การยกย่องและได้รับรางวัลจากนานาประเทศ
ในปีพ.ศ. 2554 ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ได้รับรางวัลปัทมภูสนะ ซึ่งเป็นเกียรติคุณชั้นสูงของพลเรือนที่รัฐบาลอินเดียมอบให้ ในฐานะที่ท่านได้ทำประโยชน์และมีคุณูปการแก่สังคม ท่านอาจารย์ได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลต่าง ๆ จากนานาประเทศ แต่ไม่ได้นำมากล่าวในที่นี้ ผู้สนใจกรุณาดูชีวประวัติของท่านได้จากเว็บไซต์ https://www.thaidhamma.net
ธรรมยาตราครั้งสุดท้ายที่ประเทศเมียนมาร์ ปีพ.ศ. 2555
ระหว่างวันที่ 21 – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ท่านอาจารย์ได้จัดธรรมยาตราที่ประเทศเมียนมาร์ มีการถวายสังฆทานให้พระภิกษุมากกว่าร้อยรูป การพบปะกับศิษย์ที่บ้านพักของท่านอาจารย์ การนั่งปฏิบัติร่วมกับศิษย์ที่พระมหาเจดีย์ชเวดากอง และท่านอาจารย์กล่าวปาฐกถาเรื่อง “135 ปีบนแผ่นดินธรรม” ณ โรงละครแห่งชาติที่เมืองย่างกุ้ง นอกจากนี้ยังจัดโปรแกรมให้ศิษย์เดินทางไปเยี่ยมชม ศูนย์ปฏิบัติธรรมที่เมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ วัด และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ธรรมยาตราครั้งนี้ เป็นการเดินทางเยี่ยมแผ่นดินเกิดของท่านเป็นครั้งสุดท้าย
การจากไปของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า
ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าถึงแก่กรรม ในคืนวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556 สิริอายุ 90 ปี หลังพิธีฌาปกิจในวันอังคารที่ 1 ตุลาคม ณ เมืองมุมไบ ครอบครัวของท่านนำเถ้าอัฐิเพื่อไปลอยอังคารที่ประเทศเมียนมาร์อันเป็นมาตุภูมิของท่าน
ในขณะที่รอเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ครอบครัวของท่านได้นำโกศบรรจุเถ้าอัฐิของท่านอาจารย์ เพื่อให้ศิษย์ชาวไทยได้มีโอกาสสักการะด้วย