ท่านซายาเท็ตจี (ค.ศ.1873- 1945)
โดยสถาบันวิจัยวิปัสสนา
อ้างอิง : อาจาริยบูชา หน้า 20-28
ท่านอาจารย์เท็ต หรือท่านซายาเท็ตจี เกิดวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2416 ในครอบครัวชาวนา ณ หมู่บ้านเปียวบ่วยจี ห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางใต้ 8 ไมล์ มีชื่อเดิมว่าหม่องโพเท็ต หรืออูเท็ต บิดาของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ท่านอายุได้ 10 ปี มารดาจึงต้องเลี้ยงดูลูกทั้งสี่ตามลำพังด้วยการขายผักชุบแป้งทอดในหมู่บ้าน เด็กชายโพเท็ตต้องออกไปเร่ขายผักชุบแป้งทอด แต่มักกลับบ้านโดยขายไม่ได้ เพราะอายที่จะร้องขาย ดังนั้นแม่ของท่านจึงต้องส่งลูกออกไป 2 คน ให้โพเท็ตเทินถาดที่ใส่ผักชุบแป้งทอดไว้บนศีรษะ ให้น้องสาวของท่านเป็นคนร้องเร่ขาย
เนื่องจากท่านมีภาระต้องช่วยหาเลี้ยงครอบครัว จึงได้ศึกษาเล่าเรียนเพียง 6 ปีเท่านั้น ครอบครัวของท่านไม่มีที่ดินทำกินหรือที่นา ต้องไปอาศัยเก็บเมล็ดข้าวที่ตกจากการเก็บเกี่ยวในนาของคนอื่น วันหนึ่งระหว่างกลับจากท้องนาจะไปบ้าน โพเท็ตพบปลาเล็ก ๆ อยู่ในสระน้ำที่กำลังเหือดแห้ง จึงจับกลับบ้านเพื่อจะนำไปปล่อยลงสระน้ำในหมู่บ้าน เมื่อมารดาของท่านเห็นเข้าก็เกือบจะเอ็ด แต่พอเด็กชายอธิบายถึงความตั้งใจ มารดาจึงเปล่งคำว่า “สาธุ สาธุ! (ดีแล้ว ดีแล้ว)” ออกมาแทน มารดาของท่านเป็นหญิงใจดี ไม่เคยจุกจิกหรือดุด่าอะไร และทนไม่ได้กับเรื่องการทำบาปทำกรรม
เมื่อหม่องโพเท็ตอายุได้ 14 ปี เริ่มทำงานเป็นคนขับเกวียนขนข้าว นำค่าแรงที่ได้รับในแต่ละวันมาให้แม่ เจ้าของโรงสีข้าวเห็นเด็กน้อยทำงานแบกหามข้าวสารอย่างขันแข็ง จึงตัดสินใจว่าจะจ้างให้เขาตรวจนับสินค้าในโรงสีด้วยอัตราเงินเดือนละ 6 รูปี โพเท็ตพักอยู่ที่โรงสี กินอาหารง่าย ๆ คือ ข้าวกับถั่วซีกชุบแป้งทอด ในตอนแรกท่านซื้อข้าวจากยามชาวอินเดียและคนงานอื่น พวกนั้นบอกให้ท่านเอาเศษข้าวที่เก็บกวาดจากโรงสีสำหรับไว้เลี้ยงหมูและไก่มากิน ซึ่งท่านปฏิเสธโดยกล่าวว่าไม่ต้องการนำมากินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของโรงสี เมื่อเจ้าของโรงสีทราบก็อนุญาต แต่ทว่าหม่องโพเท็ตทานปลายข้าวอยู่ไม่นาน เจ้าของเรือสำปั้นและเกวียนก็ให้ข้าวแก่ท่าน เพราะท่านเป็นคนงานที่ขยันขันแข็ง กระนั้นโพเท็ตยังคงเก็บกวาดปลายข้าวจากโรงสี นำไปแจกจ่ายแก่ชาวบ้านยากจนที่ไม่สามารถซื้อข้าวกินได้
ปีต่อมาท่านได้รับเงินเดือนเพิ่มเป็น 10 รูปี หลังจากผ่านไป 2 ปี ได้รับเพิ่มเป็น 15 รูปี เจ้าของโรงสีให้เงินท่านซื้อข้าวคุณภาพดีและให้สีข้าวเปล่าได้เดือนละ 100 ถัง เงินเดือนเพิ่มขึ้นไปถึง 25 รูปี ซึ่งเพียงพอที่จะเลี้ยงดูตนเองและมารดา เมื่ออายุ 16 ปี หม่องโพเท็ตแต่งงานกับมะเหมียน ลูกสาวคนสุดท้องในจำนวนสามคนของเจ้าของที่ดินและพ่อค้าข้าวที่มั่งคั่งรายหนึ่ง ทั้งคู่มีบุตร 2 คน เป็นหญิงและชายอย่างละคน โดยได้พักอาศัยอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิงตามประเพณีของชาวเมียนมาร์ มะหยี พี่สาวคนที่สองนั้นเป็นโสด มีกิจการเล็กๆ ของตนเอง ซึ่งต่อมาเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้อูโพเท็ตได้ปฏิบัติและสอนวิปัสสนา ส่วนมะขิ่น พี่สาวคนโตของมะเหมียนแต่งงานกับโค คะเย มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อหม่องยุ โค คะเย เป็นผู้ดูแลกิจการและที่นาของครอบครัว ส่วนหม่องโพเท็ต ตอนนี้ได้กลายเป็นอูโพเท็ตหรืออูเท็ตแล้ว ก็ร่ำรวยจากการค้าข้าวเช่นกัน
ในวัยเด็ก อูเท็ตไม่มีโอกาสได้บวชเณร ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญในประเทศเมียนมาร์ ดังนั้นเมื่อหม่องยุ หลานชายบวชเณรตอนอายุ12 ปี อูเท็ตจึงถือโอกาสบวชเณรด้วย และต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 23 ปี ท่านได้ฝึกปฏิบัติอานาปานสติกับท่านซายายุ ซึ่งเป็นอาจารย์ฆราวาส และปฏิบัติเรื่อยมาอยู่นาน 7 ปี
การออกแสวงหาโมกขธรรมและการปฏิบัติธรรมกับท่านแลดี ซายาดอว์
อูเท็ตกับภรรยามีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นและเป็นสุข ห้อมล้อมไปด้วยญาติมิตร ทว่าความสุขต้องพังทลายลง เมื่อโรคอหิวาต์ระบาดเข้ามาในหมู่บ้านเมื่อปีพ.ศ. 2446 มีชาวบ้านได้ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งลูกชายและลูกสาวของอูเท็ต ซึ่งได้ตายภายในอ้อมแขนของท่าน รวมทั้งโค คะเย พี่เขยและภรรยา ตลอดจนหลานสาวที่เป็นเพื่อนเล่นกับลูกสาวของท่านด้วย
ภัยพิบัติครั้งนี้สร้างความสะเทือนใจให้แก่อูเท็ตอย่างยิ่ง ท่านจึงขออนุญาต ภรรยา พี่ภรรยา และญาติ ออกจากหมู่บ้านไปแสวงหา “ความเป็นอมตะ” โดยมีเพื่อนชื่ออู-นโยติดตามไป ท่านตระเวนไปทั่วเมียนมาร์ ได้ศึกษากับครูอาจารย์ต่าง ๆ ทั้งพระและฆราวาส ตามสถานที่ฝึกกรรมฐานทั้งบนภูเขาและวัดป่า ในที่สุดท่านได้ขึ้นเหนือไปมงยวา เพื่อปฏิบัติธรรมกับท่านแลดี ซายาดอว์ ตามคำแนะนำของท่านซายายุ อาจารย์คนแรก
ระหว่างที่แสวงหาโมกขธรรมอยู่นั้น ภรรยากับพี่ภรรยาของท่านยังคงอยู่ที่เปียวบ่วยจีเพื่อดูแลไร่นา ช่วง 2-3 ปีแรกท่านได้กลับไปเยี่ยมเยียนครอบครัวเป็นครั้งคราว เมื่อเห็นว่าพวกเขาสบายดี จึงได้เริ่มหันมาปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องจริงจังยิ่งขึ้น โดยพักอยู่กับท่านแลดี ซายาดอว์นานถึง 7 ปี ระหว่างนี้ ภรรยากับพี่สาวคอยส่งเงินที่ได้จากผลเก็บเกี่ยวในไร่นาของครอบครัวมาให้ท่านทุกปี
เจ็ดปีผ่านไป ท่านเดินทางกลับหมู่บ้านพร้อมกับอู-นโย แต่ไม่ได้กลับไปใช้ชีวิตครองเรือนเหมือนเช่นเคย เมื่อท่านไปกราบลา ท่านแลดี ซายาดอว์ได้แนะนำว่า “ให้ตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง พัฒนาสมาธิและปัญญา เพื่อจะได้สอนวิปัสสนาให้แก่ผู้อื่นในที่สุด” เมื่อมาถึงบ้าน คนทั้งสองได้ไปพักที่ศาลาปลายนาของครอบครัว และใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ท่านฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องโดยว่าจ้างหญิงชาวบ้านทำอาหารให้วันละ 2 มื้อ
อูเท็ตปฏิบัติเช่นนี้อยู่หนึ่งปี พบกับความก้าวหน้าทางธรรมอย่างมาก วันหนึ่งท่านรู้สึกว่าต้องการคำแนะนำจากพระอาจารย์ และแม้ไม่ได้สนทนากับท่านแลดี ซายาดอว์ได้โดยตรง แต่มีหนังสือของท่านอยู่ในตู้ที่บ้าน ท่านจึงกลับบ้านเพื่อไปเอาหนังสือเล่มดังกล่าว ภรรยาและพี่ภรรยาของท่านรู้สึกโกรธที่ท่านหายหน้าไปนานไม่ยอมกลับบ้าน ภรรยาของท่านถึงกับตัดสินใจจะหย่าขาดจากท่าน เมื่อพวกเขาเห็นอูโพเท็ตเดินตรงเข้ามา ตกลงใจกันว่าจะไม่ทักทายหรือกล่าวต้อนรับ แต่พออูเท็ตมาถึงประตู พวกเขากลับต้อนรับ พูดคุยกับท่านอยู่พักหนึ่ง ท่านอูเท็ตได้กล่าวขอโทษ ซึ่งพวกเขาก็ให้อภัยและเลี้ยงอาหารพร้อมทั้งนำหนังสือมาให้ ท่านอูเท็ตกล่าวกับภรรยาว่า ตอนนี้ท่านถือศีล 8 และจะไม่กลับมาใช้ชีวิตเยี่ยงผู้ครองเรือนอีก นับจากนี้ไปท่านและภรรยาจะเป็นเช่นพี่น้องกัน
ภรรยาและพี่ภรรยาเชื้อเชิญให้ท่านมารับประทานอาหารเช้าที่บ้านทุกวัน และยินดีที่จะสนับสนุนท่านต่อไป ท่านซาบซึ้งใจอย่างที่สุด บอกว่ามีทางเดียวที่จะตอบแทนคุณของพวกเขาได้ นั่นคือ การให้ธรรมะกับญาติ ๆ รวมทั้งอูบาโซ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับภรรยาของท่านที่ได้มาพบปะพูดคุยกับท่านด้วย หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ อูเท็ตบอกว่าท่านใช้เวลาในการไป-กลับเพื่ออาหารกลางวันมากเกินไป ดังนั้นมะเหมียนกับมะหยีจึงอาสาจะนำอาหารกลางวันมาให้ที่ศาลา
ในตอนแรก ชาวบ้านรู้สึกลังเลที่จะมาฝึกปฏิบัติธรรมกับอูเท็ต คิดว่าท่านคงเสียสติ เนื่องจากความโศกเศร้าจากภัยพิบัติในครั้งนั้นจนเตลิดออกไปจากหมู่บ้าน แต่จากคำพูดและการกระทำของท่าน รวมทั้งหลังจากนั้นอีก 2-3 เดือน ทั้งหมู่บ้านเริ่มประหลาดใจที่ได้และเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวของเหล่าคนงานของอูเท็ต เดิมคนเหล่านั้นเป็นคนหยาบ ขี้เมา และชอบทะเลาะวิวาท แต่บัดนี้กลับกลายเป็นคนอ่อนโยน รักสงบ ชาวบ้านจึงเริ่มถามว่า “เจ้านายเขาสอนอะไรให้พวกแกนะ?” คนงานเหล่านั้นพยายามที่จะอธิบายเท่าที่จะสามารถทำได้ ในที่สุดชาวบ้านอดที่จะรู้สึกประทับใจกับผลที่เกิดไม่ได้และคิดว่า “เอ นั่นคือวิธีการที่กล่าวอยู่ในพระบาลีนี่นา บางทีคน ๆ นี้อาจจะรู้วิธีปฏิบัติที่แท้จริงก็เป็นได้ เราน่าจะไปลองปฏิบัติดู จะได้รู้ว่าเขาสอนอะไร”
สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาประจักษ์ว่า ท่านเป็นคนใหม่ที่มีชีวิตอยู่กับธรรมะจริง ในปีพ.ศ. 2457 ขณะอายุได้ 41 ปี ท่านเริ่มสอนอานาปานสติให้แก่คนกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 15 คน ศิษย์ทั้งหมดอยู่พักปฏิบัติกับท่านที่ศาลา มีบางคนกลับบ้านไปเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ท่านยังแสดงธรรมให้แก่ศิษย์และผู้สนใจด้วย ผู้ที่ได้ฟังกล่าวว่าธรรมะของท่านนั้นลึกซึ้ง จนแทบไม่อยากจะเชื่อว่าท่านมีความรู้ทางด้านปริยัติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และด้วยการสนับสนุนของภรรยาและพี่ภรรยา ตลอดจนความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัว ผู้มาปฏิบัติธรรมกับท่าน ได้รับความสะดวกในด้านอาหารการกินและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ จนทำให้มีผู้มาเข้ารับการอบรมเพิ่มมากขึ้น กระทั่งในคราวหนึ่งถึงกับต้องว่าจ้างคนมาช่วย
ท่านแลดี ซายาดอว์มอบหมายให้สอนวิปัสสนากรรมฐาน
ประมาณปีพ.ศ.2458 หลังจากสอนวิปัสสนามาได้ปีเศษ อูเท็ตพาภรรยากับพี่ภรรยา รวมทั้งคนในบ้าน ไปมงยวาเพื่อกราบท่านแลดี ซายาดอว์ เมื่อท่านอูเท็ตเล่าถึงการปฏิบัติของตนเองและการอบรมที่จัดขึ้น ท่านแลดี ซายาดอว์รู้สึกพอใจเป็นอย่างยิ่ง ในการไปเยี่ยมเยียนครั้งนี้ ท่านแลดี ซายาดอว์ได้มอบไม้ตะพดให้แก่อูเท็ต และกล่าวว่า
“ศิษย์ที่ยิ่งใหญ่ของข้า จงรับไม้ตะพดนี่ไป แล้วก้าวต่อไปข้างหน้า รักษามันให้ดี ข้าไม่ได้มอบสิ่งนี้แก่เจ้าเพื่อให้มีอายุยืนยาว แต่เป็นรางวัล เพื่อไม่ให้มีความวิบัติเกิดขึ้นกับชีวิตของเจ้าอีก เจ้าประสบกับความสำเร็จแล้ว นับจากนี้ไปจะต้องเผยแผ่ธรรมเรื่องกายและจิตให้แก่คน 6,000 คน ธรรมะจากเจ้าจะขจรขจาย ทำให้ศาสนาแพร่ขยายออกไป จงช่วยเผยแผ่ศาสนาแทนข้าด้วย”
วันรุ่งขึ้น ท่านแลดี ซายาดอว์เรียกประชุมพระทั้งหมดในวัด และขอให้อูเท็ตสอนกรรมฐานพระเหล่านั้นเป็นเวลา 10- 15 วัน ซึ่งซายาดอว์ได้กล่าวในที่นั้นว่า
“ทุกคนจงฟังให้ดี อูโพเท็ต อุบาสกจากเมียนมาร์ตอนล่างผู้นี้ เป็นศิษย์เอกของข้า สามารถสอนกรรมฐานได้เช่นเดียวกับข้า ผู้ใดที่ประสงค์จะเรียนกรรมฐาน ขอให้ตามอุบาสกเท็ตไป เรียนรู้วิธีการปฏิบัติจากเขา และลงมือปฏิบัติ ส่วนเจ้าทายกเท็ต เจ้าจงเผยแผ่ธรรมแทนข้า โดยเริ่มต้นที่วัดของข้านี่”
ตอนนั้นอูเท็ตจึงได้สอนวิปัสสนาให้แก่พระ 25 รูปที่มีความรู้แตกฉานในด้านปริยัติ ช่วงนี้เองที่ท่านได้รับสมญานามว่า “ซายาเท็ตจี”[1]
จากนั้นท่านซายาเท็ตจีและญาติ ๆ ลากลับบ้าน เพื่อดำเนินการตามที่ท่านแลดี ซายาดอว์ได้มอบหมาย และเริ่มจัดการอบรมที่ศาลาในหมู่บ้านเปียวบ่วยจี และก็เป็นไปดังคำพูดที่พี่ภรรยาได้กล่าวไว้ มีผู้คนพากันมาเข้าอบรมวิปัสสนา จนชื่อเสียงของท่านซายาเท็ตจีในฐานะวิปัสสนาจารย์ได้ขจรขจายออกไป ท่านสอนทั้ง ชาวนา กรรมกร ตลอดจนผู้ที่มีความรู้แตกฉานในด้านปริยัติ หมู่บ้านดังกล่าวอยู่ไม่ไกลจากย่างกุ้งเมืองหลวงของเมียนมาร์ ซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้ปกครองของอังกฤษ
ดังนั้นข้าราชการและผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง รวมทั้งท่านอูบาขิ่น ก็ได้มาเข้ารับการอบรมด้วย ต่อมาท่านซายาเท็ตจี ได้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติที่มีคุณวุฒิและวัยวุฒิ อย่าง อู-นโย อูบาโซ และอูอองยุให้ช่วยดำเนินการอบรม เนื่องจากในแต่ละปีมีผู้มาเข้ารับการอบรมมาก เพิ่มจำนวนเป็น 200 คน ซึ่งมีทั้งพระและชีรวมอยู่ด้วย จนสถานที่ไม่พอ ดังนั้นศิษย์ที่ค่อนข้างมีประสบการณ์จึงต้องปฏิบัติอยู่ที่บ้านของตน และมาที่ศาลาเพื่อฟังธรรมบรรยายเท่านั้น
ท่านซายาเท็ตจีกลับไปเยี่ยมศูนย์ของท่านแลดี ซายาดอว์เป็นครั้งคราว ท่านใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบสันโดษเยี่ยงภิกษุ ท่านไม่เคยพูดถึงการบรรลุธรรมของตนเอง ถ้ามีคนเอ่ยถาม ท่านไม่เคยตอบว่าบรรลุธรรมถึงขั้นไหน หรือศิษย์คนไหนบรรลุธรรมขั้นไหน แม้คนส่วนใหญ่ในเมียนมาร์จะเชื่อกันว่าท่านเป็นอนาคามี และเรียกขานท่านว่าอนาคาซายาเท็ตจีก็ตาม
ช่วงบั้นปลายของชีวิต
ท่านซายาเท็ตจีสอนวิปัสสนาเรื่อยมาเป็นเวลา 30 ปี โดยอาศัยประสบการณ์ของท่านเอง และหยิบยกหนังสือของท่านแลดี ซายาดอว์มาใช้อ้างอิงประกอบ ในปีพ.ศ. 2488 ขณะท่านมีอายุ 72 ปี และได้สั่งสอนผู้คนจำนวนหลายพันคน นับว่าท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ได้ลุล่วง
ต่อมาภรรยาของท่านได้เสียชีวิต และพี่ภรรยาเป็นอัมพาต ส่วนตัวท่านเองมีสุขภาพเสื่อมถอยลง ดังนั้นท่านจึงยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่หลานสาวและหลานชาย โดยขอปันเนื้อที่ 50 เอเคอร์ไว้เป็นที่ปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ท่านได้แจกจ่ายควายสำหรับไถนา 20 ตัว ให้แก่ผู้ที่ท่านเห็นว่าจะดูแลพวกมันเป็นอย่างดี โดยให้พรว่า “พวกเจ้าเป็นผู้มีคุณที่คอยช่วยเหลือข้า เพราะพวกเจ้าทีเดียว ต้นข้าวจึงได้งอกงาม ตอนนี้พวกเจ้าไม่ต้องทำงานอีกแล้ว ขอให้พวกเจ้าหลุดพ้นจากชีวิตเช่นนี้ ไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น”
จากนั้นท่านเดินทางไปย่างกุ้ง เพื่อรักษาอาการป่วยและเยี่ยมเยียนศิษย์ ท่านบอกกับศิษย์บางคนว่าท่านจะเสียชีวิตที่ย่างกุ้ง และศพจะถูกฌาปนกิจในที่ที่ไม่ใช่ฌาปนสถานมาก่อน ทั้งยังบอกด้วยว่าอย่าเก็บเถ้ากระดูกของท่านไว้ในสถานที่สักการะ เพราะท่านยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิง ซึ่งนั่นหมายความว่าท่านยังไม่บรรลุอรหัตตผล
ศิษย์คนหนึ่งของท่านได้ก่อตั้งศูนย์วิปัสสนาขึ้นที่อาร์ซานิกง ทางเนินเขาด้านเหนือของพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ใกล้กับสถานที่หลบภัย ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านซายาเท็ตจีจึงใช้หลุมหลบภัยดังกล่าวเป็นที่ปฏิบัติธรรม กลางคืนท่านจะพักอยู่กับอาจารย์ผู้ช่วยท่านหนึ่ง ศิษย์จากย่างกุ้ง รวมทั้งท่านอูบาขิ่น (อธิบดีกรมบัญชีกลาง) และท่านอูซานเต็น (ผู้ตรวจการภาษี) จะมาเยี่ยมเยียนท่านเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวย ท่านมักบอกกล่าวแก่ทุกคนที่มาเยี่ยมว่าให้ตั้งใจปฏิบัติ และให้ปฏิบัติต่อพระและชีที่มาเข้ารับการอบรมด้วยความเคารพ ให้มีความสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใด ขอให้รำลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านซายาเท็ตจีมักจะไปสักการะพระมหาเจดีย์ชเวดากองทุกเย็น แต่หลังจากนั้นประมาณสัปดาห์ ท่านล้มป่วยด้วยไข้หวัด เนื่องจากนั่งปฏิบัติในหลุมหลบภัย แม้จะได้รับการรักษาจากแพทย์ แต่อาการของท่านก็ทรุดลง หลานของท่านได้เดินทางจากเปียวบ่วยจีมายังย่างกุ้ง และทุกคืนศิษย์ของท่านประมาณ 50 คนจะมานั่งปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งในระหว่างที่นั่งนี้ ท่านซายาเท็ตจีจะปฏิบัติอย่างเงียบ ๆ ประมาณสี่ทุ่มของคืนวันหนึ่ง ระหว่างที่ท่านกำลังนั่งอยู่ท่ามกลางศิษย์จำนวนหนึ่ง (ท่านอาจารย์อูบาขิ่นไม่อาจมาร่วมในคืนนั้นได้) ท่านเริ่มหายใจดังและยาวขึ้น ศิษย์สองคนจึงคอยเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด ในขณะที่คนอื่นนั่งปฏิบัติไป พอถึงห้าทุ่มตรง ลมหายใจของท่านยิ่งลึกขึ้น ๆ จนดูเหมือนว่าลมหายใจเข้า-ออกแต่ละครั้งนั้นกินเวลานานถึง 5 นาที หลังจากหายใจเช่นนี้อยู่สามครั้ง ท่านหยุดหายใจและจากไป
ร่างของท่านซายาเท็ตจีได้รับการฌาปนกิจที่เนินเขาทางด้านเหนือของพระเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งต่อมาท่านอาจารย์อูบาขิ่นและศิษย์ได้สร้างเจดีย์เล็ก ๆ ไว้เป็นอนุสรณ์ ทว่าสิ่งที่ให้รำลึกถึงวิปัสสนาจารย์ผู้ประเสริฐท่านนี้ตลอดไป คือ ภาระหน้าที่ในการเผยแผ่ธรรมะไปสู่ผู้คนทุกหมู่เหล่าในสังคม ที่ท่านแลดี ซายาดอว์ได้มอบหมายแก่ท่านนั้นยังคงได้รับการสืบสานต่อมา
[1] “ซายา” หมายถึงอาจารย์ ส่วน ”จี” เป็นคำแสดงความเคารพ